Ad

Right Up Corner

Ad left side

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทเรียนจากคำว่า “ เสียดาย”

---- บทเรียนจากคำว่า “ เสียดาย”  ของรุ่นพี่หรืออดีตมนุษย์เงินเดือน (ตอนที่ 1)  ณรงค์วิทย์ แสนทอง peoplevalue@yahoo.com
               คนที่กำลังทะเลาะกันมองไม่เห็นหรอกว่าตัวเองถูกหรือผิด  คนที่ไม่เคยลำบากไม่รู้หรอกว่าความลำบากนั้นเป็นอย่างไร  คนที่ไม่เคยเป็นหนี้ไม่รู้หรอกว่าการรอคอยให้หมดหนี้นั้นทรมาณเพียงใด  คนที่ไม่เคยตกงาน ไม่รู้หรอกว่าการได้งานทำนั้นสำคัญแค่ไหน ฯลฯ  เรื่องบางเรื่องในชีวิตนี้เราอาจจะมีโอกาสทดลองหรือสัมผัสได้มากกว่าหนึ่งครั้ง  เรื่องบางเรื่องมีโอกาสแก้ตัวได้ เช่น เคยลำบากมาก่อนเมื่อผ่านชีวิตลำบากมาได้แล้ว  ก็พอจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ลำบากอีกครั้ง
               แต่.....เรื่องบางเรื่องในชีวิตนี้จะผ่านมาและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว  ไม่มีโอกาสแก้ตัว  เพราะเรื่องบางเรื่องต้องอาศัยเวลาเกือบทั้งชีวิตจึงจะรู้ว่าสิ่งที่ผ่านมา นั้นถูกหรือผิด  ดีหรือไม่ดี  และเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนที่เป็นลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือน คือประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดจากการเป็นลูกจ้าง  ข้อคิดหรือบทเรียนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้ว ดังนั้น  เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ผิดซ้ำเรื่องเดิมกับคนรุ่นก่อนๆ  ผมจึงขอเป็นตัวแทนของรุ่นพี่ๆอดีตมนุษย์เงินเดือนมาบอกเล่าให้ฟังว่าคนที่ เคยทำงานกินเงินเดือนในรุ่นที่ผ่านๆมาเขาหันกลับมามองอดีตแล้วเกิดความ รู้สึก  “ เสียดาย ” อะไรบ้าง หรือถ้าจะพูดง่ายๆคือ  เรื่องไหนบ้างที่อดีตมนุษย์เงินเดือนคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับมาได้จะทำให้ดี กว่าที่ผ่านมา  
               วันนี้จึงอยากจะสรุปคำว่า  “ เสียดาย ” ของอดีตมนุษย์เงินเดือน  เพื่อฝากเตือนใจมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ให้หลีกเลี่ยงหรือป้องกันดังนี้
เสียดายไม่ตั้งใจทำงานในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน  
ไม่ว่าจะเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆในปัจจุบัน  มักจะรู้สึกเสียดายกับชีวิตการทำงานที่ผ่านมาเนื่องจากช่วงแรกๆของการทำงานไม่ค่อยตั้งใจและทุ่มเทมากนัก  เนื่องจากตอนนั้นคิดว่าทำงานแลกกับเงิน ได้เงินน้อยก็ทำน้อย  ที่ไหนให้มากก็ขยันขึ้นมาหน่อย คิดอย่างเดียวว่าถ้าขยันทำมาก  เจ้าใจจะติดใจและใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เหนื่อยอยู่คนเดียว  มารู้ตัวอีกครั้งก็ต่อเมื่อทำงานไปตั้งนานไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเสียที  เด็กรุ่นใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาแซงหน้าไปเสียแล้ว  ที่สำคัญชีวิตช่วงแรกที่ทำงานมักจะเป็นช่วงที่เราจะรู้สึกว่าทำงานเหนื่อยกว่าตอนเรียน  ดังนั้น วัยนี้คนทำงานบางคนก็เริ่มเที่ยว ดื่ม กิน ใช้ชีวิตเปลืองมาก  เลิกงานเสร็จเที่ยวต่อจนดึกจนดื่น  เผลอๆบางวันใส่ชุดเดิมมาทำงาน(เพราะยังไม่ได้กลับบ้านหรือที่พัก)  แล้วจะทำงานดีได้อย่างไร กายและใจมาทำงานเพียงครึ่งเดียว  เพื่อนบางคนก็มัวแต่ทำงานเพื่อค้นหาตัวเองว่างานที่กำลังทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่  บางคนก็ทำงานเพื่อรอโอกาสหางานใหม่  สุดท้ายชีวิตการทำงานในช่วงแรกๆแทนที่จะมีเส้นการเรียนรู้ที่สูงชัน  กลับกลายเป็นเส้นการเรียนรู้ที่แบนราบ อายุงานผ่านไป  แต่อายุใจที่มีต่องานยังอยู่เท่าเดิม
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้  อยากจะตั้งใจและขยันทำงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำงาน  และจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ  และจะลดหรืองดการเที่ยวและดื่มให้น้อยลง  เพราะตอนนี้ผลกรรมเริ่มสนองให้เห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตแบบประมาทนั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาว  
เสียดายที่แต่งงานเร็วไปหน่อย  
มนุษย์เงินเดือนหลายคนเสียโอกาสในความก้าวหน้าในอาชีพไปเพราะรีบเป็นฝั่งเป็นฝาเร็วเกินไป  คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว หาเงินได้เองแล้ว ปกครองและดูแลตัวเองได้แล้ว  ก็ริคิดที่จะไปเอาคนอื่นมาดูแลเพิ่มเติม(ทั้งๆที่ยังไม่ทันได้ดูแลพ่อแม่ที่ส่งเสียให้เรียนมาจนจบ)  เมื่อชีวิตแต่งงานเข้ามาเร็วชีวิตครอบครัวเข้ามาเร็ว  ปัญหาประจำตำแหน่งชีวิตคู่ก็เข้ามาเร็ว  ทั้งๆที่อายุงานและประสบการณ์ชีวิตในหน้าที่การงานยังน้อยอยู่  ทำให้ปัญหาครอบครัวเริ่มมาเป็นตัวถ่วงในเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ  เพราะไหนจะต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น เวลาที่จะทุ่มเทกับงานก็น้อยลง  ถ้าใครยังทุ่มเทกับงานมากอยู่อีกก็จะทำให้เกิดปัญหาครอบครัว  เงินเก็บที่ยังไม่เต็มที่ก็ต้องควักออกมาใช้  เพราะมีลูกทั้งๆที่ยังไม่พร้อมในหลายๆด้าน  คิดง่ายๆว่าในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อนเราที่ยังไม่แต่งงานเขามีเวลาทุ่มเทกับการทำงานเพื่อปีนป่ายขึ้นไปสู่จุดหมายแห่งความสำเร็จ  ในขณะที่เราต้องปีนป่ายเหมือนกับเขา  แต่เราต้องกระเตงคู่สามีหรือภรรยาและลูกไปด้วย  นึกดูเอาเองก็แล้วกันนะครับว่าใครจะปีนไปได้สูงและไกลกว่ากัน
ถ้าย้อนเวลาไปได้ อยากจะทำงานก่อนสักระยะหนึ่ง  อย่างน้อยก็ได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งมาบ้างแล้ว จึงคิดจะแต่งงาน  อย่างน้อยก็ต้องมีเงินเก็บมาบ้างแล้ว  หรืออาจจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานที่เพียงพอต่อการหางานใหม่ที่มีตำแหน่งที่สูงกว่าก่อนจึงจะแต่งงาน  และการที่เรามีเวลาทำงานผ่านไปสักระยะหนึ่งก็น่าจะมีเวลาในการคบหาหรือดูใจกับที่เราจะเลือกมาเป็นคู่ได้ดีขึ้น  
เสียดายที่ไม่ได้ศึกษาต่อ
ความเสียดายข้อนี้ผมเชื่อว่าเกินครึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่มีความรู้สึกแบบนี้  เพราะตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เกือบทุกคนมักจะคิดว่าจะหาเวลาศึกษาต่อ  รอเก็บเงินค่าเทอมไปสักพักก่อนและรอให้ทำงานเข้าที่ก่อน  แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่พลาดเป้าหมายนี้ไป เช่น  งานยุ่งไม่มีเวลาเรียน  พอจะเรียนก็เปลี่ยนงาน(เหตุผลเดิมคือรอให้งานเข้าที่แล้วค่อยเรียน)  ไม่มีเงินค่าเทอม ขี้เกียจอ่านหนังสือ สอบไม่ได้(เพราะไม่ตั้งใจ)  ใจอยากเรียนแต่ไม่เคยแม้แต่จะลงมือทำอะไรเลย เลือกที่เรียนมากเกินไป  บางคนลองไปเรียนแล้วแต่ไปไม่รอดเพราะแบ่งเวลาไม่เป็น  อดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดย้อนกลับไปว่าถ้าตอนนั้นเรียนต่อในระดับนั้นระดับนี้  ป่านนี้คงจะประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้แน่นอน  เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งมีโอกาสดีๆเข้ามาในชีวิต คุณสมบัติครบทุกอย่าง  ขาดอย่างเดียวคือวุฒิการศึกษาไม่ถึง เลยเสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตการทำงานไป  มาถึงตอนนี้ก็แก่เกินเรียนแล้ว ยิ่งออกมาทำธุรกิจส่วนตัวถึงแม้เวลาจะมีมากขึ้น  แต่กำลังใจมีน้อยลง แรงใจมีน้อยลง และไม่รู้จะเรียนไปทำไม  เพราะงานธุรกิจส่วนตัวที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาสูงๆก็ได้
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้  คิดว่าจะต้องตัดสินใจเรียนตั้งแต่เพิ่มเริ่มทำงานใหม่ๆสักปีสองปี  จะยอมอดทนไปสักระยะหนึ่ง และจะเรียนให้จบก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่หรือมีครอบครัว  
               มาติดตามกันต่อไปในวันพุธหน้านะครับว่ายังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่อดีตมนุษย์เงินเดือนรู้สึก  “ เสียดาย" ” กับชีวิตการเป็นมนุษย์เงินเดือนในอดีตที่ผ่านมา  ความเสียดายนั้นจะตรงกับชีวิตจริงของท่านหรือไม่  และควรจะทำงานอย่างไรจึงจะไม่รู้สึก “ เสียดาย ” เหมือนอดีตมนุษย์เงินเดือนหลายๆคน
 
บทเรียนจากคำว่า “ เสียดาย” ของรุ่นพี่หรืออดีตมนุษย์เงินเดือน (ตอนที่  2)  
วันนี้เรามาดูกันต่อนะครับว่า มนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆและอดีตมนุษย์เงินเดือนเขารู้สึกดายอะไรบ้างในชีวิต ของการเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ผ่านมา  
เสียดายที่มัวแต่ละเลาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน  
มนุษย์เงินเดือนหลายคนเสียเวลาไปกับปัญหาคนเยอะมาก  ทั้งปัญหาหัวหน้า ปัญหาเพื่อนร่วมงาน บางคนก็มีปัญหากับลูกน้องอีก  วันๆเสียเวลาของสมองไปกับการคิดถึงปัญหาคนอื่น  ตอนที่เป็นลูกจ้างเรามักจะคิดว่าปัญหาทะเลาะกับคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่  เลยใช้เวลากับมันมาก เครียดกับมันบ่อย  แทบจะไม่มีเวลาไปพัฒนาหรือปรับปรุงงานหรือพัฒนาตนเองเลย  ตอนนั้นลืมไปว่าจริงๆแล้วไม่มีใครทำงานอยู่กับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานอยู่กับคนที่เราไม่ชอบไปตลอดชีวิตเช่นกัน  แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดแบบนี้  คิดอย่างเดียวว่าวันนี้เรากับเขาจะมีปัญหากันเรื่องอะไรอีก  คิดว่าเรื่องเมื่อวานมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนผิด ทำไมเขาจึงเป็นคนแบบนั้น  สุดท้ายเราก็จะจมอยู่กับปัญหาคนที่บางครั้งเคยหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว  ปัญหาคนเก่าหายไป แต่..ปัญหาคนใหม่ก็เกิดขึ้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้  อยากจะคิดเสียว่าปัญหาคนเหมือนกับปัญหารถชนกันบนถนนที่เราไม่ต้องไปสนใจกับให้มากนัก  แต่เราควรจะสนใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นอยู่อีกไกลหรือไม่  เรามีเวลาเหลืออีกนานหรือไม่  ต้องคิดว่าไม่มีใครทำงานกับเราไปตลอดชีวิตและเราเองก็ไม่ได้ทำงานกับใครไปตลอดชีวิตเช่นกัน  และคิดว่าถ้าเรารับปัญหาคนอื่นไม่ได้  เราคงจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปไม่ได้  เพราะยิ่งสูงปัญหาคนยิ่งมากและซับซ้อนมากขึ้น
เสียดายที่เปลี่ยนงานมากไปหน่อย  
ถ้าดูประวัติมนุษย์เงินเดือนบางคน  จะเห็นว่าเปลี่ยนงานทุกปีๆละครั้งสองครั้ง  ตอนที่เปลี่ยนงานก็มีเหตุผลมาสนับสนุนมากมาย เช่น เงินเดือนสูงกว่า อยู่ใกล้บ้าน  เบื่อที่ทำงานเก่า งานใหม่ท้าทายกว่า อยากทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ฯลฯ  แต่เมื่อมาถามตอนนี้ว่าผลการเปลี่ยนงานบ่อยในอดีตสรุปว่าดีหรือไม่  คำตอบที่ได้ก็มีทั้งดีและไม่ดี  แต่หลายคนตอบถ้าพิจารณาถึงผลระยะยาวแล้วอาจจะไม่เป็นผลดีมากนัก  เพราะประสบการณ์ในแต่ละที่นั้นน้อยเกินไป
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี  เพราะน่าจะเป็นเวลาที่เราได้ครบทั้งการเรียนรู้ (Learn) การทำงาน (Perform)  และการพัฒนาปรับปรุงงาน (Improve)  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงชีวิตเพราะบางช่วงอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะตลาดกำลังโต  ชีวิตกำลังรุ่ง แต่บางช่วงอาจจะต้องอยู่นาน  เพราะต้องหยุดพักหายใจและสั่งสมประสบการณ์  ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นสู่เพดานบินที่สูงขึ้น
เสียดายที่ไม่ตั้งใจเรียนภาษาต่างประเทศ  
“  เสียดายภาษาอังกฤษไม่ดี ”  เป็นคำพูดที่มักจะได้ยินจากอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ไปสัมภาษณ์งานมาใหม่ๆ  ที่มักจะรู้สึกเสียดายบริษัทฝรั่งที่เสนอเงินเดือนให้สูงๆ  แต่ติดที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกเลย เพราะไม่ได้จบ (เมือง) นอก  และทำงานแต่บริษัทคนไทยจึงไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย  บางคนจะหันมาเอาดีในการเรียนภาษาก็ต่อเมื่อบินสูงแล้ว  ซึ่งพัฒนาได้ยากแล้วเพราะมีเวลาน้อยและภารกิจทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น  
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้  จะเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มทำงานและจะเลือกทำงานกับบริษัทต่างชาติตั้งแต่ต้น  หรือไม่ก็อาจจะหาเงินไปเรียนต่อต่างประเทศ
เสียดายที่หาตัวเองเจอช้าไปหน่อย  
มนุษย์เงินเดือนบางคนทำงานมาเป็นสิบปีแล้ว  ยังหาตัวเองไม่เจอเลยว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร  จะทำงานเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆจนเกษียณหรือจะออกไปทำอาชีพอิสระ  ขนาดถามว่างานที่ชอบหรืออยากทำคืองานอะไรยังตอบไม่ได้เลย  อย่างนี้จะก้าวหน้าในอาชีพการงานได้อย่างไรละครับ  พูดง่ายๆคืออดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนทำงานเหมือนกับพายเรืออยู่ในอ่าง  วันๆก็ตื่นขึ้นมาไปทำงาน เสร็จงานกลับบ้าน จันทร์ถึงศุกร์ทำงาน  เสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน รูปแบบชีวิตเหมือนเดิมเป็นเดือนเป็นปีบางคนเป็นสิบปี  มารู้ตัวอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว  เพื่อนๆรุ่นเดียวกันไปไหนต่อไหนจนมองไม่เห็นหลังกันแล้ว
ถ้าย้อยเวลากลับไปได้  อยากจะวางแผนชีวิตตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานว่าอีกกี่ปีจะเป็นอะไร จะทำอะไร  จะต้องได้อะไร และแต่ละวันแต่ละเดือน แต่ละปีควรจะทำอะไรบ้าง อย่างไร  
เสียดายที่ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป  
คนบางคนไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อย แต่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย  ตอนที่ทำงานอยู่รู้สึกว่าเราเป็นคนดีขององค์กรที่ไม่ยอมเปลี่ยนงานไปไหนเลย  แต่พอชีวิตการทำงานผ่านเลยไปก็รู้สึกเสียใจและเสียดายเหมือนกันที่ชีวิตการทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียว  สังคมเดียว คนบางคนอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป  ช่วงเวลาที่กำลังรุ่งก็ไม่ยอมเปลี่ยนงาน พอจังหวะชีวิตผ่านไปก็คิดจะเปลี่ยนงาน  ก็ทำได้ยากแล้ว เพราะเงินเดือนสูง อายุเยอะ แต่ตำแหน่งต่ำ  ไปสมัครตำแหน่งที่สูงเกินไปเขาก็ไม่รับ  สมัครในตำแหน่งที่เท่าเดิมก็แก่กว่าคนอี่นๆ(แถมเงินเดือนเดิมสูงอีกต่างหาก)
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้  อยากจะเปลี่ยนงานในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อปรับเพดานบินให้เหมาะสมกับอายุตัวและอายุงาน  โดยไม่ต้องยึดติดว่าจะต้องอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานจนเกินไป
              ที่เขียนมาทั้งหมดนี้  ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรจะเชื่อและเอาแบบอย่าง  แต่ก็ไม่อยากให้มนุษย์เงินเดือนมองข้ามคำว่า "เสียดาย"   ของมนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆหรืออดีตมนุษย์เงินเดือนไป  อย่างน้อยก็น่าจะนำไปเป็นคำถามตัวเองว่าเราอยากจะรู้สึกเสียดายในเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนรุ่นพี่ๆหรือไม่  ถ้าไม่เราควรจะทำอย่างไรตั้งแต่วันนี้

yengo ad

BumQ