ราโชมอน เป็นชื่อประตูเมือง เกียวโต นครหลวงของญี่ปุ่นสมัย เฮอัน ในช่วงปี ค.ศ. 789 – 1185 เป็นประตูที่มีอยู่จริง ในชื่อเดิมว่า Raseimon หรือ Rajomon นักวิชาการบอกว่า ประตูราโชมอนสร้างเลียนแบบประตูเมืองฉางอันของประเทศจีน สารานุกรมญี่ปุ่นบางเล่มกล่าวว่า ประตูนี้ถูกพายุพัดพังในปี ค.ศ. 816 แต่ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ ฐานประตูยังคงมีให้เห็นอยู่จนประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17
นิยายเรื่อง ราโชมอน ของญี่ปุ่นเขียนโดย อะกุตะงะวะ รีวโนะซุเกะ (ค.ศ. 1892 – 1927 ) นักเขียนที่อายุสั้น ปลิดชีวิตตัวเอง ในวัย 35 ปี ด้วยปัญหาสุขภาพที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และ สภาพจิตใจที่คอยเฝ้าหวาดระแวงว่าตนจะกลายเป็นคนสติฟั่นเฟือน เหมือน ที่แม่ของเขาเคยเป็น หลังจากที่ให้กำเนิดเขาได้ไม่นานนัก
แต่อะกุตะ งะวะ ก็ได้สร้างผลงานฝากไว้หลายเรื่อง จากการที่เขาเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งวรรณคดีญี่ปุ่น จีน และ ตะวันตก ดังนั้น เมื่อตอนที่ศึกษาวรรณคดีอังกฤษ อยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาก็เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นออกมาหลายเรื่อง งานจำนวนมากรวบรวมจากนิทานโบราณ โดยนำมาเขียนในภาษาที่ทันสมัยขึ้น ในยุคนั้น ด้วยลักษณะที่สละสลวย เนื้อเรื่องชวนติดตาม และให้มุมมองที่ตีแผ่ส่วนลึกในจิตใจคน
สำหรับราโชมอน ฉบับภาษาไทยนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แปลและดัดแปลง เป็นบทละครเวที ในปี พ.ศ. 2508 และได้มีการแสดงหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 10 มีนาคม ในปีนั้นด้วย
ในฉบับญี่ปุ่น มีการนำไปสร้างหนังโดย คุโรซาวา อะกิระ เพิ่งทราบว่า คนญี่ปุ่นเขาจะเรียกชื่อกันแบบนี้ และในปี 2554 เราได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง อุโมงค์ผาเมือง
ราโชมอน ประตูผี ที่เหน็บหนาว
หลากเรื่องเล่า เคล้าน้ำตา บ้างน่าหัว
ศพ ระเกะ เกลื่อนกลาด ชวนหวาดกลัว
ยามสลัว แล วาบ ไหว คล้ายวิญญาณ
ก็ไหนว่า เหล่าปีศาจ ล้วนขาดเงา
ที่เต้นเร่า ท่ามกลางซาก มิสะท้าน
วิ่งราวทรัพย์ กับร่างผี ชำนิชำนาญ
ไร้อาการ หวั่นใจ ในภูติพราย
เป็นสิ่งใด กันเล่า มิเข้าใจ
เฉี่ยวโฉบไป คล้ายแร้งกา อันดุร้าย
รื้อค้นทั่ว ถ้วนทั้งสรรพางค์กาย
แม้คนตาย ไม่ยอมเว้น เข่นอินทรีย์
พอเข้าใกล้ ก็เลยเห็น ว่าเป็น “คน”
นักขุดค้น ประโยชน์ได้ แม้ในผี
อสูร กลัวตายซ้ำซ้อน ขอจรลี
ร้ายกว่าผี ก็เห็นที มีแต่ “คน”
…. ภริยาสาว เห็นท่าไม่ค่อยดี จึงคิดว่าเกิดเรื่องกับสามีของตัวเองแน่ จึงวิ่งร้องหาสามีเข้าไปในป่าที่เขาถูกจับมัดอยู่
… ตาโจมารุ คิดจะลวนลามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อาการริษยา ที่เห็น หญิงสาว เป็นห่วงสามี ดังนั้น จึงปล่อยให้เธอวิ่งเข้าไปเพื่อพบสภาพสามีที่ คิดจะหยามเกียรติซามูไร ต้องการให้ภริยาเห็นสามีของตัวถูกมัด
… ขั้นที่สอง ต้องการข่มเหงสตรี ต่อหน้าสามี เป็นการทำร้ายจิตใจ ซามูไร
สรุปง่ายๆ ว่าต้องการ สร้างแผลใจให้ สามีภรรยาคู่นี้ อาจเพื่อความสะใจส่วนตัว ชดเชยสิ่งที่ตัวเองขาด
ในที่สุด ตาโจมารุ ก็ทำสำเร็จ ทั้งสองอย่างค่ะ
แล้วเรื่องก็มาจบตรงที่ ซามูไรตาย ในกอไผ่ ด้วยดาบตัวเอง แต่หาตัวฆาตกรไม่พบ และ ไม่พบอาวุธในที่เกิดเหตุ
ในฉบับของ มรว.คึกฤทธิ์ บอกว่า คนที่มาพบศพคือ คนตัดฟืน แล้วก็ ไปแจ้งตำรวจ จากนั้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็ถูกเรียกมาสอบปากคำ คือ
ตาโจมารุ
ภรรยาซามูไร
และ นอมินีของซามูไร นั่นคือ ร่างทรงค่ะ เพราะซามูไรตายแล้ว ต้องอาศัยร่างทรงมาให้ปากคำแทนค่ะ อ้อ... มีพระญี่ปุ่นมาอีก 1 คน เพื่อเป็นพยานด้วยค่ะ
ทั้งสามคนต่างให้การตรงกันว่า ตัวเองเป็นคนฆ่า ซามูไร ในหนังจบแบบนี้
แต่ ในละครไทย เมื่อแยกย้ายกันไปแล้ว ก็มีการวิเคราะห์ต่อค่ะ ต้องบอกว่า เคาะ จนได้เรื่องจริงๆ ความจริงมันก็เลยออกมา ด้วยฝีมือ ของคนที่เป็น คนไม่ซื่อสักเท่าไหร่ คนที่ไม่ดีในสายตาสังคม นั่นคือ คนที่หากินจากศพ คนทำช้อง
ตอนแรกสงสัยอยู่นานค่ะว่า ทำช้องคือทำอะไรหนอ ไปเปิดพจนานุกรม ก็เลยเข้าใจว่า
ช้อง คือ มุ่นผมในสมัยก่อนค่ะ เหมือนกับ วิกผมนี่แหละ หากินจากศพก็คือ ดึงผมศพออกไปทำเป็น ช้อง ที่ว่านี่แหละค่ะ
เมื่อแยกย้ายจากการให้การแล้ว ราโชมอนฉบับไทย ก็ ตัดตอนมาที่ พระ คนตัดฟืน และ คนทำช้อง
พระ กับ คนตัดฟืน ไปคุยกันต่อในศาลร้างค่ะ ในประเด็นที่ไปให้การด้วยความสับสน จนกระทั่งคนทำช้อง ที่นอนอยู่บนชั้นบนของศาลร้าง ทนไม่ได้ ต้องตื่นลงมาแจมค่ะ
พระคุยกับคนตัดฟืนด้วยความท้อใจว่า จะสึกจากสมณเพศ เพราะทนรันทดใจกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นไม่ไหว
การ ปล้น ฆ่า ข่มขืน เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันในช่วงนั้น จนท่านถอดใจว่า มิอาจสั่งสอนคนให้เขาคิดดี ทำดีได้ จึงคิดจะสึกกลับไปอยู่บ้าน ตามคำพูดของ โยมพ่อ ที่เคยบอกว่า ท่านไม่เหมาะที่จะบวชพระ
คนตัดฟืนก็พยายามทัดทาน จนคนทำช้องหนวกหูต้องตื่นขึ้นมา นั่นแหละค่ะ
คนทำช้องบอกขอฟังเรื่องที่เป็นคดีปริศนา ....
คนตัดฟืนเริ่มเล่า ซึ่งกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ตรงกับสามคนที่เล่ากันมา
เรื่อง มันเริ่มต้น เมื่อ ซามูไร และ ภรรยา เดินเข้าไปในป่า แล้วก็ เจอตาโจมารุ โดนหลอกให้เข้าไปในป่า ซามูไรโดนมัด ตรงนี้ คล้าย ๆ กัน
เริ่มต่างตรงที่ เมื่อมีการข่มขืน แรกๆ ภริยาซามูไร ก็ขัดขืน จากนั้น ก็ไม่ดิ้นรน
ซามูไร มองด้วยสายตาที่ขมขื่น แทบจะทนไม่ได้
เมื่อ เหตุการณ์ผ่านไป ภริยาซามูไรก็นั่งหวีผม ขณะที่ ตาโจมารุ พยายามขอร้องให้ นางไปอยู่กับเขา เพราะเขาบอกว่า เคยมีรักแรกพบ หลงรักสตรีสูงศักดิ์ ที่แค่เห็นหน้า แล้วก็เป็นรักฝังใจ ไม่ได้รักในบุคคล แต่รักในบุคลลิกนั้น ว่าจะได้มีหญิงแบบนั้นข้างกายสักคนหนึ่ง
ภริยาซามูไรบอกว่า นางต้องการอยู่กับชายที่ยอมทำอะไรเพื่อนางบ้าง ไม่ใช่ใช้แต่กำลัง อยากได้นางเป็นคู่ชีวิต ต้องลงทุน และ จ่ายแพงสักหน่อย ไม่ได้เป็นเงินทอง แต่ต้องชิงจากสามีนาง
ว่าแล้ว หญิงสาวก็ ใช้มีดไปตัดเชือก สามีตนเองออกมา แล้วก็ยั่วยุให้สองคนลงมือ สู้เพื่อชิงนาง
เมื่อ ซามูไรได้รับอิสระ เขาก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ซามูไรไม่ยอมสู้กับตาโจมารุ แต่กลับประนามภริยาว่า ส่งที่นางควรทำคือฆ่าตัวตายเสีย เพื่อรักษาเกียรติ ของตัวเอง และสามี
ภริยาโกรธจัด บอกว่า นางต่อสู้เพื่อรักษาเกียรติแล้ว แต่ทนแรงโจรไม่ได้ จึงเสียท่า
ซามูไร อาศัยอะไรในการออกคำสั่ง เพราะเกียรติที่ต้องการรักษาไว้นั้น ไม่เคยมี
นางอยู่กับซามูไร จึงรู้ดีว่า กว่าจะไปออกรบแต่ละคราวนั้น ซามูไรทั้งหวาด ทั้งหลัว เครียดจนอาเจียนก็หลายคราว
ซามูไร ก็บอกว่า นางเองก็เป็นหญิงชั้นต่ำ คือแค่ลูกคนครัว เขาอุตส่าห์รักจริงแล้วแต่งเข้ามา แทนที่จะทำตัวแบบกุลสตรี กลับไม่รักเกียรติของตัว ชอบมีพฤติกรรมลับๆ ล่อ ออกไปพูดคุยกับชายอื่นนอกบ้าน ก็หลายหนแล้ว...
ตาโจมารุ เห็นสองคน ผลัดกันเปิดโปง ก็ตาค้าง ว่า เฮ้อ ผู้ดี เขาเป็นกันแบบนี้เองหรือเนี่ย จะจากไปดื้อๆ
ภริยาซามูไรก็บอกว่า ไปง่ายๆ ไม่ได้ แล้วก็ปั่นจนสองคนต้องจับดาบมาสู้กัน
ทั้งสองคน คนหนึ่งบอกว่าเป็นมหาโจร ที่ดุดัน ไม่กลัวใคร มีแต่คนกลัว
คนหนึ่งเป็นท่านซามูไรผู้ทรงเกียรติ ) แม้จะไม่ย้ายพรรคบ่อย กับไม่ได้อุบาทว์ขนาดกำหนดตัวย่อ ทุเรศ ก็ตาม ) ฟังแล้วดูห้าวหาญไม่น้อย
เมื่อต้องมาประจันหน้ากัน ต่างแข่งกันไหว้ครูค่ะ หมายความว่า เงื้อง่า แต่ไม่ยอมฟัน เกี่ยงกันฟันก่อน
แต่ ในที่สุดซามูไร ทนไม่ได้ ลงมือก่อน ตาโจมารุ เสียที ดาบไปติดกอไผ่ แล้วล้มลงไป แล้วก็เลยหยิบทรายปาใส่ตาซามูไร ซามูไรเสียหลัก เข้าไปในดงไผ่บ้าง พอลุกขึ้นมาได้ ก็จะเข้าไปฟันโจรรอบสอง โจรก็เอาอีก ใช้ดินปาใส่ตา
คราวนี้ ซามูไร เข้าไปในดงไผ่ (ซีนเดิมๆ แฮะ) แต่เป็นเรื่องเพราะดาบตัวเองปักอก จากนั้นล้มลง
ภริยา ที่ดูเหตุการณ์ ตกใจ วิ่งเข้ามาดูสามี ส่วนโจร เห็น ซามูไรตาย ก็ทิ้งดาบแล้ววิ่งมาหาภริยาสาวของซามูไร ซึ่งชักสับสนว่าต้องได้โจรเป็นสามีใหม่แล้วหรือนี่ จึงวิ่งไปตั้งหลักในป่า แล้วโจรก็ตามเจ้าหล่อนไป
...คนตัดฟืนเล่า โดยบอกว่า เขาหลบอยู่แบบเงียบเชียบ เพราะกลัวว่าหากตาโจมารุ รู้ว่ามีคนแอบดูอยู่ ต้องโดนปิดปากแน่เลย
คนทำช้องก็บอกว่า ดูแล้วเรื่องนี้น่าเชื่อที่สุด แม้จะไม่ได้มีความจริงทั้งหมดก็ตาม
....คนตัดฟืน ก็โกรธ บอกว่า เจ้าคนชั่วเอ๊ย เอ็งมันก็แค่คนหากินกับศพ
เพราะว่าดึงผมคนตายมาทำผมปลอม แล้วจะมาว่าคนอื่นเป็นคนโกหกได้
คนทำช้อง แย้งว่า .... เรื่องนี้มีช่องว่าง เอ็งอยากรู้ไหมล่ะ
ท่านอยากทราบไหมคะ ? อันนี้ดิฉันถามมั่งละค่ะ
เรื่องนี้อ่านจากหนังสือค่ะ แล้วก็เขียนตามความจำนะคะ อาจมีเพี้ยนในแง่คำพูดบ้าง แต่ใจความก็ตามนี้ค่ะ
คนทำช้อง บอกว่า ...
ข้ามันคนไม่ดีในสายตาคนในสังคม เป็นโจรลักขโมยเล็กๆน้อยๆ เลยเป็นคนไม่ดี หากินแถวราโชมอน ประตูผีนี่แหละ
เห็นศพมีเสื้อผ้าที่ยังไม่ขาด ก็เอาเสื้อผ้าไปใช้ ก็คนตายแล้วใช้ได้ที่ไหนกันล่ะ
ส่วนวิกผมผู้หญิงล่าสุดที่ข้าได้มานี่แหละ ตอนเป็นคนอยู่นางผู้นี้เคยนำเนื้องูไปหลอกขายในตลาดว่าเป็นเนื้อปลาไหล "
คนทำช้องจะว่าต่อ ก็มีเสียงเด็กร้อง คนทำช้องเห็นเด็กเข้าก็ดึงผ้าห่มจากตัวเด็กไป บอกว่าจะขายได้หลายตังค์
คนตัดฟืนโกรธมาก บอกว่าจะเรียกตำรวจมาตัดสินใจ ถ้าไม่ยอมคืนผ้าห่อตัวเด็ก
แล้วคนทำช้องก็พูดต่อในสิ่งที่ เหมือนทำให้โลกของคนตัดฟืน หยุดนิ่งลงว่า
" แกกล้าเรียกก็เรียกมาเลย ข้าจะได้พูดต่อเรื่องการให้การในศาล ของดดีปริศนา ใครฆ่าซามูไร ที่ว่า .....ข้าจะบอกให้นะว่า คนทุกคน เห็นสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน
แล้วแกจะเรียกตำรวจมา เพื่อตัดสินให้ข้าคืนผ้าห่อเด็ก ... ไม่กลัวเรื่องดาบซามูไรก็ตามใจนะ
ข้าจะได้ถามตำรวจว่า ดาบซามูไร น่ะหายไปไหน ในฐานะที่แกเป็นพยานปากเอก แกก็คงจะเห็นซีนะว่ามันไปไหน
ดาบเล่มนั้นเป็นดาบดี มีราคา ด้ามทอง หรือ เพชร หากไปขายก็คงได้หลายเงิน กระมัง
แกได้ไปเท่าไหร่ล่ะ "
คนตัดฟืน หยุดอาการยื้อผ้า นิ่งเงียบ ได้แต่ส่ายหน้า พูดเบาๆ ว่า ข้าไม่รู้เรื่อง
ส่วนพระก็บอกว่า อาตมาไม่เข้าใจที่ท่านพูดเลย
คน ทำช้องก็เลยพูดต่อว่า เอาเถอะ ขโมยมันต้องช่วยคนอาชีพเดียวกัน ข้าจะบอกให้สบายใจนะว่า คนเรามันก็ต้องชั่วบ้าง ดีบ้าง แต่มันไม่สำคัญอะไรนักหรอก ข้าเคยเห็นรูปเขียนรูปหนึ่ง เป็นรูปคนกำลังโหนเชือกอยู่ที่หน้าผาสูง บนยอดผานั้นมีสัตว์ร้ายคอยอยู่ ด้านล่างก็มีจระเข้าคอยงับเหยื่อ
แล้วเชือกที่ห้อยอยู่ ก็มีหนูสองตัว มันกำลังผลัดกันกัดเชือก ตัวหนึ่งสีขาว คือ กลางวัน อีกตัวสีดำ คือยามค่ำคืน มันกัดเชือกอยู่ตลอดเวลา
ชีวิตคนเรามันก็แค่นั้นแหละเพื่อน อย่ามัวมานั่งถกเถียงกันอยู่เลย เวลาที่เราจะโหนเชือกอยู่นั้นมันไม่มากมายอะไร
แต่อย่างไรผมก็ต้องขอบคุณท่านนะ( หันมามองพระ) ที่วันนี้ได้ฟังเรื่องสนุก แล้วยังได้ผ้าไปขายอีกผืนหนึ่งด้วย
คนทำช้องเดินจากไปแบบสบายใจ
ทิ้ง คนตัดฟืน เด็กทารก และ พระไว้ด้วยกัน
คน ตัดฟืน ขอเด็กที่พระอุ้มอยู่ว่า จะนำไปเลี้ยง เพราะที่บ้านก็มีลูกเล็กหลายคน แล้วพระจะนำเด็กไปด้วย คงไม่สะดวก ตอนแรกพระไม่ยอมให้ แต่พอฟังเหตุผลของคนตัดฟืน ว่า
" ผมรู้ดีว่า ท่านคงไม่เชื่อถือผม ที่ขโมยแม้แต่ดาบในศพคนตายไปขายกิน
แต่ ท่านทราบไหม ที่บ้านผมมีลูกเล็กๆ หกคนที่นั่น บางทีมันหิว บางทีมันหนาว มันกลัว มันร้องไห้ก้นบ่อยๆ ดาบด้ามเงินเล่มนั้น ขายได้เงินมาเช็ดน้ำตาให้ลูกผมได้มาก
ส่วนเจ้าตัวเล็กนี่ มันตัวนิดเดียว จะไปเปลืองอะไรสักเท่าไหร่กัน
ผมทราบดีว่า ไม่อยู่ในฐานะที่จะขออะไรจากท่านได้อีก ก็สุดแต่ท่านจะพิจารณาก็แล้วกัน "
พระมองเห็นความกรุณาในสายตาของคนตัดฟืนอย่างจับใจ แล้วก็ส่งเด็กให้โดยดุษฎี
" ประสกรับไว้เถอะ "
คนตัดฟืน กลับแย้งว่า
" แต่ท่านก็ได้ยินกับหูว่า ผมเองก็ไม่ได้ดีอะไรนัก เป็นขโมย เป็นคนขลาด ไม่พูดความจริง "
" ประสกเป็นหลายอย่าง แต่ก็เป็นคนเหมือนกับคนอื่นๆ "
" ท่านอภัยให้ผมหรือครับ "
" อาตมาไม่มีเรื่องที่จะต้องให้อภัยประสก ประสกเสียอีกที่จะต้องให้อภัยอาตมา เพราะอาตมามุ่งแต่จะสอนธรรมแก่คนอื่น วันนี้ประสกได้สอนธรรมให้อาตมาได้มาก "
แล้ว หนึ่งพระ หนึ่งคนสามัญ ก็แยกทางกัน
คนตัดฟืน กลับบ้าน
ส่วนพระ ก็ย้อนทาง กลับไปสู่วัดที่ท่านจากมา
จบ...
คัดย่อ จากหนังสือ ราโชมอน
บทประพันธ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ค่ะ
ส่วนตรงนี้ เป็นเรื่องของ คนสร้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่ะ ผุ้กำกับที่เป็นแม่แบบของ คนฮอลลีวู้ด หลายคนแล้ว
คุโระซะวะ อะกิระ ...
....................................................................
อะกีรา คูโรซาวะ ศิลปินผู้สร้าง “ราโชมอน”
อา กีรา คูโรซาวะ (พ.ศ.2453- ) มีความสนใจการวาดรูปมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตอนเรียนอยู่ประถมบังเอิญได้เรียนกับครูวาดเขียนที่ถูกใจ ทำให้เขารักการวาดเขียนยิ่งขึ้น ครูสอนวาดเขียนหลายคนที่เขาเคยเรียนด้วย มักจะเข้ามาในห้องเรียนพร้อมกับ แจกันหรือปิ่นโต วางของสิ่งนั้นลงบนโต๊ะ แล้วสั่งให้นักเรียนวาดให้เหมือนของจริง ใครวาดได้เหมือนที่สุดก็จะได้คะแนนเต็ม
มีครูสอนวาดเขียนคนหนึ่ง ไม่ใช้วิธีบังคับให้นักเรียนวาดรูปให้เหมือนจากหุ่น แต่บอกว่า “ใครอยากจะวาดอะไรก็ได้.....เลือกเอาที่ชอบที่สุดก็แล้วกัน” ซึ่งถูกใจ คูโรซาวะในวัยเด็กมาก เขาวาดอย่างสุดฝีมือ โดยใช้นิ้วมือทั้งห้านิ้ว จุ่มน้ำลายและสีแล้วละเลงเป็นภาพขึ้นมา และมีการให้ความเห็นว่า เป็นลายที่งดงามอย่างประหลาด
ภาพวาดงานศิลป์ของคูโรซาวะ และนักเรียนคนอื่นๆ เมื่อเสร็จแล้วครูก็เอามาโชว์ หน้าชั้นเรียนเพื่อการวิจารณ์ ข้อดีข้อเสีย ตามแบบอย่างของการเรียนการสอนศิลปะ เมื่อถึงคิวรูปของคูโรซาวะ ที่ใช้นิ้ว จุ้มสีละเลงนั้น นักเรียนทั้งห้องหัวเราะครืน แต่กลับได้รับการยกย่องจากครูศิลปะว่าเป็นภาพที่ดีที่สุด สไตล์ยอดเยี่ยมและมีความแหวกแนว และให้คะแนนเต็ม ทำให้เขาเกิดกำลังใจและมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้น และไม่เคยขาดเรียนชั่วโมงวาดเขียนของครูคนนี้เลย
คูโรซาวะ วาดรูปมาเรื่อยจนเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยตั้งใจจะเขียนรูปเป็นอาชีพ และเป็นช่วงที่เขามีความคิดรุนแรง มีความไม่พอใจกับ สภาพสังคมที่ถูกมองว่าเน่าเฟะสำหรับเขา จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ สันนิบาตจิตรกรกรรมชีพซึ่งล้วนเป็นพวกนิยมซ้าย และได้ร่วมแสดงรูปเขียนในงานแสดงศิลปกรรมของกลุ่มจิตรกรฝ่ายซ้าย แต่ในไม่ช้าเขาก็มองเห็นว่าจิตรกรพวกนี้เหยาะแหยะไม่ซ้ายจริง เผลอเป็นหลบเข้าบาร์และ เต้นรำกัน ครึกครื้น ประกาศตัวเป็น “ซ้าย” โก้ๆไปงั้นเอง เขาจึงออกจากกลุ่มไป
หลายปีต่อมาด้วยความยากลำบากและความ เป็นซ้ายของเขาก็ค่อยๆอ่อนกำลังลง มีประกาศรับสมัครผู้ช่วยผู้กำกับทางหนังสือพิมพ์ เขายื่นใบสมัครโดยเขียนประวัติว่าเคยเป็นช่างเขียนสนใจวรรณคดีและการละคร เขาผ่านการทดสอบจนถึงรอบสัมภาษณ์ซึ่งก็ไปทะเลาะกับกรรมการ แต่เขาก็ได้ตำแหน่งนั้น เพราะกรรมการเห็นว่าเขามีความจองหองของศิลปิน คนที่หัวอ่อนจะเป็นผู้กำกับไม่ได้ ผู้กำกับที่ดีต้องเห็นตัวเองว่าวิเศษ เป็นเทวดา คนอื่นบ้องตื้นทั้งนั้น
ผู้กำกับที่ดีต้องไม่กลัวจะมีปัญหา กับโปรดิวเซอร์ ดังนั้นการกล้าเถียงและทะเลาะกับกรรมการจึงเข้าสเป็ก เขาจึงได้เรียนงานสร้างภาพยนตร์กับผู้กำกับใหญ่ตั้งแต่การเขียนสคริปต์ จนถึงการสร้างอารมณ์ให้แก่คนดูโดยใช้แสงและดนตรีเข้าช่วย
จอมโจรป่า ทาโจมารุ ควบม้าอย่างคึกคะนองใน “ราโซมอน”
ความ ที่เขาเป็นช่างเขียนมาก่อน เมื่อจะสร้างหนังแต่ละเรื่องเขาจะบรรจงเขียนภาพตามจินตนาการของเขาลงไว้หมด และมิใช่เขียนลวกๆแบบสเก็ตซ์ แต่เขียนลงสีกันเลยที่เดียว
ภาพยนตร์ เรื่อง “ราโซมอน” ที่เขาสร้างมีความคิดริเริ่มด้วยการถ่ายภาพย้อนแสง เนื้อเรื่องได้พาคนดูผ่านแสงและเงาของป่าเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ซึ่งหัวใจมนุษย์กำลังหลงทาง โดยเป็นภาพยนตร์ ขาว-ดำ ที่มีมุมกล้องยอดเยี่ยม
คูโรซาวะ ได้พูดถึงหัวใจของเรื่อง “ราโชมอน” ให้ผู้ช่วยผู้กำกับสามคนของเขาฟังว่า “มนุษย์เราเมื่อพูดถึงตนเองย่อมมีอัตตาที่จะต้องคุ้มครองเชิดชู จึงพูดถึงพฤติการณ์ ของตัวเองด้วยความซื่อตรงไม่เป็น ต้องเติมควารู้สึกเข้าข้างตัวเอง ให้ตัวเองวิเศษกว่าความเป็นจริงอยู่เสมอเป็นเรื่องอัตตาของมนุษย์...เรา ต้องการให้คนดูได้รับทราบธรรมชาติวิสัยอันนี้ของมนุษย์ เพราะหัวใจมนุษย์มันยากที่จะเข้าใจ ศิลปินจึงต้องตีแผ่ออกมา...”
เสวก จิรสุทธิสาร
http://www.cfa.bpi.ac.th/sub5-7-7.html